Leningrad, Siege of

การปิดล้อมนครเลนินกราด

​​     ​การปิดล้อมนครเลนินกราดเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* ของเยอรมนีที่จะบุกโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างสายฟ้า แลบในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* การปิดล้อมนครเลนินกราดหรือการปิดกั้นนครเลนินกราด (Leningrad Blockade) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางเหนือสุดของแนวรบรัสเซีย เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และสิ้นสุดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ กินระยะเวลา ๙๐๐ วัน นับเป็นการปิดล้อมเมืองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การรบ ในระยะแรก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีต้องการโดดเดี่ยวเลนินกราดโดยโจมตีแนวรบด้านอื่น ๆ ก่อน ต่อมากองทัพกลุ่มเหนือ (Army Group North) ของเยอรมนีได้เคลื่อนกำลังจากปรัสเซียตะวันออกเพื่อปิดล้อมนครเลนินกราดตามแผนปฏิบัติการแสงเหนือ (Operation Nordlicht - Operation North Light) โดยคาดการณ์ว่าในช่วงการปิดล้อมซึ่งจะมีการโจมตีทั้งทางอากาศและการระดมยิงในภาคพื้นดินอย่างหนักจะทำลายขวัญและกำลังใจของชาวเมืองจนต้องยอมแพ้ในที่สุด แต่ชาวเลนินกราดกลับยืนหยัดต่อสู้อย่างกล้าหาญจนมีชัยชนะซึ่งทำให้ในเวลาต่อมารัฐบาลโซเวียตยกย่องให้นครเลนินกราดเป็น "วีรนคร" (hero city)สมกับเป็นนครที่เป็นบ่อเกิดของการปฏิวัติรัสเซีย
     การปิดล้อมนครเลนินกราดเป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลวของเยอรมนีในการยึดครองอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ฮิตเลอร์ซึ่งต้องการกอบกู้ชื่อจึงตัดสินใจเปิดแนวรบด้านตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อเอาชนะสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ เขายังหวาดระแวงว่าในช่วงที่เยอรมนีโหมทำสงครามในแนวรบด้านตะวันตก โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตอาจฉวยโอกาสบุกคาบสมุทรบอลข่านและเข้ายึดครอง การบุกโจมตีสหภาพโซเวียตยังจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการขยายดินแดนไปทางตะวันออก (Lebensraum) เพื่อผนวกดินแดนอันกว้างใหญ่ทางด้านตะวันตกของสหภาพโซเวียตให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมันตามที่ฮิตเลอร์ได้กล่าวไว้ในหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* เยอรมนีจึงใช้แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซาบุกโจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งเป็นการละเมิดความตกลงในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอป-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๙
     การบุกโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างรวดเร็วโดยไม่ให้รู้ตัวตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซาทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบและรุกคืบหน้าไปสู่กรุงมอสโกตามเส้นทางที่เคยใช้ในการบุกรัสเซียโดยผ่านเมืองสโมเลนสค์ (Smolensk) ขณะเดียวกัน เยอรมนีก็กระจายกำลังออกเป็นกองทัพกลุ่มเหนือเพื่อมุ่งสู่นครเลนินกราด และเป็นกองทัพกลุ่มใต้ (Army Group South) เพื่อเข้ายึดยูเครน (Ukraine) และคาบสมุทรไครเมีย ข่าวชัยชนะของกองทัพเยอรมนีในยูเครนและในคาบสมุทรไครเมียทำให้สภาการบริหารปกครองแห่งนครเลนินกราด (Council of Deputies of the Leningrad Administration) มีมติเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ให้เกณฑ์กำลังชาวเมืองเลนินกราดกว่าหมื่นคนก่อสร้างป้อมค่ายและแนวป้องกันล้อมรอบตัวเมืองเพื่อป้องกันการบุกโจมตี แนวป้องกันสร้างด้วยไม้ซุงซึ่งมีระยะทางยาวรวมกันทั้งสิ้น ๑๙๐ กิโลเมตรและแนวลวดหนาม ๖๓๕ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแนวป้องกันที่ขุดเป็นท้องร่องเพื่อขวางรถถังอีก ๗๐๐ กิโลเมตร กองดินเสริมด้วยไม้ซุงหรือคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อใช้เป็นแนวตั้งอาวุธปืนใหญ่มีความยาวรวมทั้งสิ้นถึง ๕,๐๐๐ กิโลเมตรและยังขุดแนวสนามเพลาะที่สลับซับซ้อนจำนวนมากมีความยาวรวมกันถึง ๒๕,๐๐๐ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการหันกระบอกปืนและตั้งวิถีกระสุนปืนของเรือรบออโรรา (Aurora) ไปยังปุลคอฟสกีเยไฮต์ (Pulkovskiye Height) เพื่อป้องกันการรุกของกองทัพเยอรมันที่อาจเคลื่อนมาทางตอนใต้ของนครเลนินกราด ทั้งมีการประกาศกฎอัยการศึกและสตาลินมีคำสั่งให้นายพลเกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* รับผิดชอบในการบัญชาการในการป้องกันนครเลนินกราดและอันเดรย์ จดานอฟ (Andrei Zhdanov)* เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตแห่งเลนินกราดดูแลความสงบภายใน มีการย้ายโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญ ๘๖ แห่งออกจากเมืองและนำศิลปวัตถุจากพระราชวังและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มาเก็บซ่อนไว้ในห้องใต้ดินของพิพิธภัณฑ์แอร์มิทาจ (Hermitage) และมหาวิหารเซนต์ไอแซก (St. Isaac) รวมทั้งเริ่มหาทางอพยพชาวเมืองโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กไปยังที่ปลอดภัย
     ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ กองทัพกลุ่มเหนือซึ่งมีจอมพล ฟอน เลเยบ (von Leeb) เป็นผู้บังคับบัญชาเคลื่อนกำลังถึงชานนครเลนินกราด ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพฟินแลนด์ซึ่งเปิดศึกกับรัสเซียและมีพลเอก คาร์ล กุสทาฟ เอมีล มันเนอร์ไฮม์ (Carl Gustav Emil Mannerheim)* เป็นผู้บังคับบัญชาในการยุทธ์ใน "สงครามฤดูหนาว" (Winter War) กับรัสเซียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๐ ก็เข้ายึดครองคอคอดคาเรเลียน (Karelian Isthmus) และเมืองต่าง ๆ ที่ฟินแลนด์เคยสูญเสียกลับคืนได้ในไม่ช้าก็เคลื่อนกำลังจากทางตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งสู่นครเลนินกราด แต่ต่อมาได้หยุดทัพที่เส้นพรมแดนฟินแลนด์-รัสเซียที่กำหนดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ณ บริเวณแม่น้ำสฟีร์ (Svir) ซึ่งห่างจากนครเลนินกราดทางเหนือ ๔๐ กิโลเมตร การหยุดทัพของกองกำลังฟินแลนด์ทำให้แผนของเยอรมนีซึ่งเตรียมการรุกโจมตีนครเลนินกราดพร้อม ๆ กับการบุกของกองกำลังฟินแลนด์ล้มเหลว ทั้งมันเนอร์ไฮม์ก็ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับเยอรมนีในการเคลื่อนทัพข้ามเส้นพรมแดนด้วย เยอรมนีจึงรุกคืบหน้าตามลำพังไปถึงชายฝั่งทะเลสาบลาโกดา (Lagoda) ทางตอนใต้ซึ่งห่างจากเลนินกราด ๑๘ กิโลเมตรและในวันที่ ๔ กันยายน ก็เริ่มระดมยิงเมืองด้วยปืนใหญ่ อีก ๒ วันต่อมามีการโจมตีทางอากาศด้วยการทิ้งระเบิดถล่มเพื่อประสานกับการกระหน่ำยิงทางภาคพื้นดิน ขณะเดียวกันกองทหารเยอรมันก็เริ่มตั้งมั่นล้อมรอบนครเลนินกราดและนำไปสู่การปิดล้อมเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของสหภาพโซเวียต
     ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ นครเลนินกราดมีประชากรประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน แต่เมื่อกองทัพเยอรมันรุกคืบหน้าเข้ามาพื้นที่ตอนในของประเทศ ก็มีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยในเลนินกราดจำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ภายหลังการระดมยิงและทิ้งระเบิดที่เริ่มในวันที่ ๘ กันยายนติดต่อกันไม่หยุดเลนินกราดจึงถูกตัดขาดจากพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของสหภาพโซเวียต ในระยะแรกของการปิดล้อม ชาวเลนินกราดจำนวนมากคาดว่าเยอรมนีจะโหมบุกและเข้ายึดครองเมือง แต่กองกำลังเยอรมันก็มีกำลังพลไม่เพียงพอเพราะฮิตเลอร์ได้สั่งให้ทหารยานเกราะที่จะมาเสริมแยกไปบุกกรุงมอสโกเยอรมนีจึงเพียงแต่ตั้งแนวล้อมเมืองอย่างแข็งขันและใช้วิธีระดมยิงเมืองด้วยปืนใหญ่และทิ้งระเบิดอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ก็พยายามจัดตั้งแนวป้องกันการบุกของเยอรมนีด้วยการเกณฑ์ทหาร แต่การขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ทำให้การฝึกทหารเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามก็มีการตระเตรียมการสู้รบอย่างเต็มที่และมีการปลุกขวัญและกำลังใจทหารและประชาชนอย่างมากเพื่อให้ร่วมมือกันป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน
     การทิ้งระเบิดถล่มของกองกำลังเยอรมันได้สร้างความหายนะให้แก่นครเลนินกราดอย่างมาก คลังเสบียงหลักส่วนใหญ่ถูกทำลายและเกิดไฟไหม้ทั่วทั้งเมือง ทั้งเส้นทางลำเลียงเสบียงรวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์

เครื่องบินและเรือรบก็ถูกโจมตีไม่ขาดระยะ และนำไปสู่วิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ การยิงถล่มเมืองอย่างต่อเนื่องก็ยังทำให้สถานีไฟฟ้าถูกทำลายและโรงงานจำนวนมากต้องปิดกิจการในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ นอกจากนี้น้ำมันและถ่านหินก็หมดลงจนชาวเลนินกราดต้องตัดต้นไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิง และในกลางเดือนพฤศจิกายนระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดก็นิ่งสนิท อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีพของชาวเลนินกราด ได้แก่ การขาดแคลนอาหารซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ของพลเมือง จดานอฟ เลขาธิการพรรคจึงแก้ไขด้วยการปันส่วนอาหารโดยกำหนดให้กรรมกรซึ่งใช้แรงงานหนักได้รับขนมปัง ๖๐๐ กรัมต่อวัน ข้าราชการและลูกจ้าง ๔๐๐ กรัม เด็กและประชาชนทั่วไป ๓๐๐ กรัม อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบถึงวิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหารเพราะเกรงว่าจะก่อความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน ภัตตาคารและร้านค้ายังคงให้บริการตามปรกติ แต่ต่อมาก็ต้องปิดตัวลง โดยเหลือร้านค้าเพียงไม่กี่แห่งที่ยังดำเนินการต่อไปในเวลาไม่ช้าการเข้าแถวเพื่อซื้ออาหารก็ยาวเหยียดและกินเวลานาน และมีการปรับสัดส่วนการปันส่วนอาหารกันอีกหลายครั้ง
     ขณะเดียวกัน ฤดูหนาวที่มาเร็วกว่าปรกติก็ทำให้อุณหภูมินับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปลดลงเหลือประมาณ ๒๐ องศาฟาเรนไฮต์ และบางวันก็ต่ำกว่าศูนย์ ความอดอยากและความหิวโหยได้ขยายตัวไปทั่วเลนินกราด ในเดือนพฤศจิกายน อัตราการปันส่วนลดลงเหลือ ๒๕๐ กรัมสำหรับกรรมกรและคนทั่วไป ๑๒๕ กรัมต่อวัน แต่ในเวลาไม่ช้าอาหารก็แทบจะหมดเมืองชาวเลนินกราดที่หิวโหยต้องจับหนู แมวและสุนัขรวมทั้งนกมาเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิต และเรื่องราวการกินเนื้อคนก็เริ่มเป็นข่าวประปราย โดยบ้างกล่าวว่ามีการลอบขุดศพที่เพิ่งเสียชีวิตในกลางดึกมาเป็นอาหารในต้นเดือนพฤศจิกายนซึ่งหลังการถูกปิดล้อมได้เพียงไม่กี่เดือน ทางการก็มีสถิติว่าประชาชน ๑๑,๐๐๐ คนเสียชีวิตเพราะอดอยาก และเฉลี่ยผู้เสียชีวิตวันละกว่า ๓๕๐ คน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นตามลำดับเมื่ออากาศฤดูหนาวหนาวเหน็บมากขึ้นและมีหิมะปกคลุมจนเมืองขาวโพลน ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ มีผู้อดตายเฉลี่ยวันละ ๓,๐๐๐ คน หรือประมาณ ๙๐,๐๐๐ คนต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ คนระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ ขณะเดียวกันประชาชนที่เข้ารับการฝึกทหารจำนวนมากก็ล้มป่วยและบ้างก็อ่อนแอเกินกว่าจะฝึกจนจบขั้นตอนได้ประมาณว่ามีทหารฝึกกว่า ๘,๐๐๐ คนเสียชีวิตเพราะขาดอาหารขณะฝึก จำนวนประชาชนที่เสียชีวิตก็มีมากจนขุดหลุมฝังกันไม่ทันและต้องใช้ระเบิดเพื่อสร้างหลุมใหญ่ ศพก็ถูกโยนสุมกันไปโดยไม่มีการกลบหลุมศพและปล่อยให้หิมะกลบแทน ในช่วงเวลาเดียวกันเยอรมนียังทิ้งแผ่นปลิวปลุกระดมทางอากาศเรียกร้อง

ให้ชาวเมืองยอมจำนนเพื่อหลีกเลี่ยงการอดตายแต่ก็ประสบความล้มเหลวเพราะชาวเลนินกราดคงยืนหยัดต่อต้านอย่างเด็ดเดี่ยว
     อย่างไรก็ดี อากาศที่หนาวเย็นซึ่งทำให้น้ำในทะเลสาบลาโดกาแข็งตัวจนสามารถเดินได้กลายเป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมนครเลนินกราดซึ่งถูกล้อมกับเมืองท่าภายนอก ดังนั้น ในเวลาไม่ช้าชาวเมืองก็เริ่มมีความหวังและกำลังใจมากขึ้น เมื่อน้ำแข็งหนาขึ้น การอพยพผู้คนออกจากเลนินกราดและการลำเลียงเสบียงอาหารและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เข้ามาในเมืองด้วยเลื่อนที่ลากด้วยม้าก็เปลี่ยนเป็นรถบรรทุกแทน แม้เส้นทางดังกล่าวจะถูกเครื่องบินเยอรมันยิงกราดและเผชิญอุปสรรคนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะ เครื่องยนต์รถบรรทุกขัดข้องและต้องเสี่ยงกับน้ำแข็งยุบตัว แต่เส้นทางนี้ก็ทำให้การอพยพพลเมืองกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนออกจากเมืองได้และรับความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดช่วงการปิดล้อมในปีแรก เส้นทางข้ามทะเลสาบลาโดกาจึงได้ชื่อว่า "ถนนแห่งชีวิต" (Road of Life)
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ เยอรมนีซึ่งล้มเหลวในการบุกยึดกรุงมอสโกเริ่มล่าถอย สตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตจึงสั่งการให้กองทัพแดง (Red Army)* เคลื่อนกำลังหนุนมาช่วยนครเลนินกราด ขณะเดียวกันเยอรมนีก็

เสริมกำลังหนุนในการปิดล้อมเลนินกราดและฮิตเลอร์เปลี่ยนแผนจากการปิดล้อมเป็นการมุ่งทำลายเมืองให้สิ้นซากจนไม่อาจใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป มีการเปลี่ยนผู้บัญชาการรบฝ่ายเยอรมนีจากจอมพล เกออร์ก ฟอน คึชเลอร์ (Georg von Küchler) เป็นจอมพล ฟริชต์ เอริช ฟอน มันชไตน์ (Fritz Erich von Manstein)* ซึ่งเพิ่งมีชัยชนะในการยึดครองเมืองเซวัสโตโปล (Sevastopol) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ มีการวางกำลังปืนใหญ่หนัก ๘๐๐ กระบอกไว้รอบเมืองแต่การรุกโจมตีของฝ่ายโซเวียตซึ่งได้รับกำลังหนุนเสริมไม่ขาดระยะทำให้มันชไตน์ซึ่งควบคุมกองทัพที่ ๑๑ ในแผนปฏิบัติการแสงเหนือล้มเหลวที่จะพิชิตกองทหารโซเวียตในการยุทธทางด้านตะวันตกของทะเลสาบลาโดกา และอีก ๒-๓ เดือนต่อมาก็ถูกกองทัพแดงโหมโจมตีจนสูญเสียทหารกว่า ๖๐,๐๐๐ คน เขาจึงย้ายไปควบคุมกองกำลังกลุ่มแม่น้ำดอน (Army Group Don) ในยุทธการที่เมืองสตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๒
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๓ กองทัพโซเวียตใช้แผนปฏิบัติการประกายไฟ (Operation Spark) ด้วยการประสานการรุกใหญ่ระหว่างกองกำลังป้องกันเลนินกราดกับกำลังทัพจากแนวหน้าด้านวอลฮอฟ (Volkhov) เพื่อตอบโต้การบุกโจมตีของเยอรมันทางตอนใต้ของทะเลสาบลาโดกา ในที่สุดกองทัพโซเวียตก็สามารถเปิดเส้นทางกว้างประมาณ ๑๐ กิโลเมตรตามแนวฝั่งด้านใต้ของทะเลสาบลาโดกาได้สำเร็จ ช่องทางดังกล่าวทำให้สามารถวางรางรถไฟข้ามแม่น้ำเนวา (Neva) เพื่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟสายเดิมสู่นครเลนินกราดได้ การปิดล้อมเลนินกราดของฝ่ายเยอรมนีจึงเริ่มไร้ผล แต่การสู้รบระหว่างกองทัพแดงกับกองทัพเยอรมันทางใต้ยังคงดำเนินต่อไป ในเดือนตุลาคม กองทัพเยอรมันกำหนดแผนปฏิบัติการสีน้ำเงิน (Operation Blue) ขึ้นโดยจะเปิดการรุกทางด้านตะวันออกของนครเลนินกราดแต่การล่าถอยของกองทัพเยอรมันจากแนวรบด้านอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียตทำให้มีกำลังบุกไม่เพียงพอและต้องเปลี่ยนเป็นการถอยทัพแทน นอกจากนั้น กองกำลังทางอากาศของเยอรมนีก็ล้มเหลวที่จะทำลายเรือรบโซเวียตที่มุ่งสู่ท่าเรือเลนินกราด ทหารเยอรมันซึ่งอ่อนล้าจึงเริ่มขวัญเสีย การล้อมเลนินกราดได้กลายเป็นการยุทธ์ที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การรบส่วนทหารเยอรมันต่างก็เห็นว่าเป็นการยุทธ์ที่เสียเปล่าและไม่คุ้มค่า
     ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๓ กองทหารเยอรมันเริ่มล่าถอยออกจากแนวรบด้านต่าง ๆ ในสหภาพโซเวียตอย่างต่อเนื่อง ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๓ ฮิตเลอร์ก็ยอมให้ถอนกำลังจากการปิดล้อมเลนินกราด กองทหารเยอรมันกองสุดท้ายถอนตัวออกจากพื้นที่การยึดครองเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ซึ่งทำให้การปิดล้อมสิ้นสุดลงโดยทันที ในวันเดียวกันนั้นเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงมอสโกกับนครเลนินกราดก็เชื่อมต่อกันได้ สตาลินจึงประกาศชัยชนะต่อการปิดล้อมของเยอรมนีและในคืนนั้นก็มีการเฉลิมฉลองชัยชนะทั่วนครเลนินกราด อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสตาลินได้สั่งการให้หน่วยเคจีบี (KGV)* หรือตำรวจลับจับกุมประชาชนและทหารจำนวนไม่น้อยที่ร่วมต่อสู้ปกป้องนครเลนินกราดด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าในช่วงการปิดล้อมพวกเขาไม่ได้ติดต่อกับมอสโกอย่างสม่ำเสมอเพื่อขอคำชี้แนะและการสนับสนุนการดำเนินนโยบายป้องกันนครเลนินกราดตามลำพังเป็นเสมือนการแข็งข้อที่รัฐบาลโซเวียตไม่อาจยอมรับได้พวกที่ถูกจับกุมหลังการปิดล้อมสิ้นสุดลงต่างถูกส่งตัวไปลงโทษที่ค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)*
     ในช่วง ๒๙ เดือนหรือ ๙๐๐ วันของการปิดล้อมนครเลนินกราด จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทหารและพลเรือนมีประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐-๑,๕๐๐,๐๐๐ คน พลเรือนที่อพยพหนีออกจากเมืองได้ด้วยการเดินเท้ามีประมาณ ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโซเวียตกล่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีการบันทึกไว้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑ ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ จากความอดอยากและจากกระสุนปืนและระเบิดมี ๖๗๐,๐๐๐ คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกฝังตามสุสานต่าง ๆ ทั้งนี้โดยมีผู้ที่เสียชีวิตเกือบ ๕๐๐,๐๐๐ คนถูกฝังไว้ที่สุสานปิสกาเรฟสโกเย (Piskarevskoye Memorial Cemetery) ซึ่งต่อมาเป็นสุสานสงครามแห่งชาติ หลังการปิดล้อมสิ้นสุดลงนครเลนินกราดแทบจะกลายเป็นเมืองร้างเพราะอาคารบ้านเรือนพังพินาศ และอีกจำนวนไม่น้อยถูกละทิ้งให้ว่างเปล่า ทั้งจำนวนประชากรก็ลดลงจากเกือบ ๒ ล้านคนเหลือน้อยกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน
     ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ สตาลินได้มอบอิสรยาภรณ์ เลนิน (Order of Lenin) ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหภาพไซเวียตแก่นครเลนินกราดในการยืนหยัดป้องกันตนเองอย่างกล้าหาญเกือบ ๓ ปี ต่อมาในปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ มีการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงวีรกรรมและการต่อสู้อย่างอาจหาญของทหารและพลเรือนในช่วงการปิดล้อมนครเลนินกราดด้วยการจัดสร้างแนวสีเขียวแห่งความสง่างาม (Green Belt of Glory) ด้วยการปลูกต้นไม้และจัดตั้งอนุสรณ์สถานเป็นวงแหวนล้อมรอบแนวป้องกันเมืองในช่วงที่เคยถูกยึดครอง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๕ เลนินกราดก็เป็นนครแรกของสหภาพโซเวียตที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "วีรนคร" ซึ่งชาวเลนินกราดต่างภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับและเรื่องราวการปิดล้อมนครเลนินกราดก็กลายเป็นตำนานว่า "กรุงทรอย (Troy) ล่ม กรุงโรมล่ม แต่นครเลนินกราดไม่ล่มตาม" แม้กรุงปารีสในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ก็ยังปราชัยและต้องยอมจำนนหลังจากถูกเยอรมนีปิดล้อมได้เพียง ๔๒ วันเท่านั้น แต่นครเลนินกราดสามารถยืนหยัดต่อสู้จนถึง ๙๐๐ วันจนในที่สุดก็ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม
     การปิดล้อมเลนินกราดได้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมากทั้งในและนอกสหภาพโซเวียต งานชิ้นสำคัญที่รู้จักกันทั่วไป คือ บทเพลงของดมิตรี โชสตาโควิช (Dmitry Shostakovich) ชื่อ "Leningrad Seventh Symphony" ที่แต่งขึ้นในช่วงการถูกปิดล้อม บทเพลงอิตาลีของดาร์ก ลูนาซี (Dark Lunacy) ในอัลบั้มชุด "The Diarist" เกี่ยวกับการยึดครอง หรือเพลง "Leningrad" ของบิลลีโจเอล (Billy Joel) นักร้องชาวอเมริกันและอื่น ๆ ส่วนหนังสือและวรรณกรรมเกี่ยวกับการปิดล้อมเลนินกราดก็มีจำนวนมากเป็นต้นว่า The 900 Days ของแฮริสัน ซอลส์เบอรี (Harrison Salisbury) The Siege ของเฮเลน ดันมัวร์ (Helen Dunmore) นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายยอดเยี่ยมใน ค.ศ. ๒๐๐๑ นอกจากนี้ ก็มีก่ารถ่ายทอดเรื่องราวการปิดล้อมเป็นภาพยนต์สารคดีเรื่อง The Mirror และภาพยนตร์สงคราม The 900 Days อีกด้วย.



คำตั้ง
Leningrad, Siege of
คำเทียบ
การปิดล้อมนครเลนินกราด
คำสำคัญ
- เนวา, แม่น้ำ
- โจเอล, บิลลี
- ดันมัวร์, เฮเลน
- ซอลส์เบอรี, แฮริสัน
- แผนปฏิบัติการประกายไฟ
- เซวัสโตโปล, เมือง
- กองทัพแดง
- ลาโกดา, ทะเลสาบ
- คึชเลอร์, เกออร์ก ฟอน
- สฟีร์, แม่น้ำ
- สงครามฤดูหนาว
- สโมเลนสค์, เมือง
- จูคอฟ, เกออร์กี
- ไมน์คัมพฟ์
- สตาลิน, โจเซฟ
- มันเนอร์ไฮม์, คาร์ล กุสทาฟ เอมีล
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- คาเรเลียน, คอคอด
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- จดานอฟ, อันเดรย์
- การขยายดินแดนไปทางตะวันออก
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- เลนินกราด, นคร
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- แผนปฏิบัติการแสงเหนือ
- แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- แผนปฏิบัติการสีน้ำเงิน
- มันชไตน์, ฟริทซ์ เอริช ฟอน
- ยุทธการที่เมืองสตาลินกราด
- โชสตาโควิช, ดมิตรี
- ค่ายกักกันแรงงาน
- ลูนาซี, ดาร์ก
- เคจีบี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf